วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การบาดเจ็บทางกีฬาวอลเลย์บอลและการปฐมพยาบาล


การบาดเจ็บทางกีฬาวอลเลย์บอลและการปฐมพยาบาล

การบาดเจ็บจากการกีฬาเกิดขึ้นได้เสมอ กีฬาวอลเลย์บอลต้องอาศัย ความคล่องแคล่วว่องไว จึงอาจเกิดการปะทะชนกันเองระหว่างผู้เล่น ตลอดจนการผิดพลาดหกล้ม ปะทะ
สิ่งกีดขวางหรือกระแทกกับพื้นสนามจนต้องได้รับอันตรายบาดเจ็บได้

สาเหตุของอันตรายและการบาดเจ็บ


1. ตัวนักกีฬาเอง ในเรื่อง
* ความไม่เหมาะสมของรูปร่างกับประเภทกีฬา เพราะกีฬาบางประเภทนักกีฬาควรมีรูปร่างพิเศษเหมาะกับลักษณะการเล่นของกีฬา เช่น กีฬาวิ่งข้ามรั้ว อเมริกันฟุตบอล และรักบี้ เป็นต้น
* ความไม่สมบูรณ์ทางกายในด้านกล้ามเนื้อ ความอดทน ความคล่องแคล่วและความยืดหยุ่น เป็นต้น
* การบาดเจ็บในอดีต ทำให้ไม่สามารถใช้อวัยวะส่วนนั้นได้เต็มที่ หรือกลัวว่าจะได้รับบาดเจ็บซ้ำที่เดิมจนลืมป้องกันอวัยวะส่วนอื่น
* ขาดการเตรียมพร้อมก่อนลงแข่งขัน เป็นต้นว่า การอบอุ่นร่างกาย ชุดที่ใช้แข่งขัน และอุปกรณ์ป้องกัน
2. สาเหตุที่มาจากภายนอก เช่น อุปกรณ์กีฬา สนามแข่งขัน คู่แข่งขัน เป็นต้น

อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาอาจเกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญกำลังจะมา เราควรต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธีก่อน เพื่อลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ ซึ่งการบาดเจ็บทางกีฬาวอลเลย์บอลที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ได้แก่

การบาดเจ็บทางผิวหนัง

1. ผิวหนังถลอก ( แผลถลอก )
การถลอก คือ การที่พื้นผิวบนของผิวหนังถูกแรงเฉือนให้หลุดไป แต่ไม่ลึกไปจนถึงชั้นของผิวหนังทั้งหมด อาจมีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย หากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนแผลจะหายอย่างรวดเร็ว
บริเวณที่เกิดการถลอกบ่อย ๆ ได้แก่ ข้อศอก ข้อเข่า ตาตุ่ม เพราะผิวหนังส่วนนี้อยู่ชิดกับกระดูก เมื่อมีการลื่นไถลผิวหนังบริเวณเหล่านี้มักจะถูกบดอยู่ตรงกลางระหว่างพื้นแข็งและกระดูก
การปฐมพยาบาล
1. ห้ามเลือดโดยใช้ผ้า สำลี หรือนิ้วมือกดที่บาดแผล ยกส่วนที่เป็นบาดแผลให้สูงกว่าระดับหัวใจ
2. ทำความสะอาดบาดแผลโดยใช้น้ำสะอาด
3. ใส่ยาสำหรับแผลสด เช่น โพวิโดนไอโอดีน ยาแดง
4. ถ้าแผลใหญ่ให้นำส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาต่อไป

2. ผิวหนังพอง

การพอง คือ การบาดเจ็บจากการแยกของชั้นผิวหนังด้วยกันเองออกไป โดยช่องระหว่างชั้นของผิวหนังที่แยกออกไปนี้ จะเต็มไปด้วยของเหลวจากเซลล์ข้างเคียงหลั่งออกมา การบาดเจ็บแบบนี้มักจะเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีจนชั้นของหนังกำพร้าแยกตัวออกจากชั้นของหนังแท้
การปฐมพยาบาล
1. ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่พองด้วยสบู่ ล้างน้ำสะอาดแล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์
2. ใช้เข็มสะอาดเจาะบริเวณที่พองให้น้ำบริเวณใต้ผิวหนังส่วนนั้นออกมาจนหมด โดยให้มีแผลเปิดน้อยที่สุด และไม่จำเป็นต้องลอกผิวหนังบริเวณนั้นออก ยกเว้นเสียแต่ว่าผิวหนังบริเวณนั้นตายแล้ว จากนั้นแต้มด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน ปิดด้วยพลาสเตอร์หรือป้ายด้วยยาจำพวกซิงค์ออกไซด์
3. หมั่นรักษาความสะอาดและพยายามรักษาให้บริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเสียดสีบริเวณนั้นจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 7 -10 วัน

3. ผิวหนังฟกช้ำ
การฟกช้ำ เกิดจากการที่มีแรงมากระแทก อาจมาจากวัสดุของแข็งที่ไม่มีคม ซึ่งทำให้เกิดบาดแผลบริเวณใต้ผิวหนัง เลือดซึมออกไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง คั่งอยู่บริเวณข้างใต้ชั้นผิวหนัง
การปฐมพยาบาล
1. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อเศษน้ำแข็งประคบทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับกดเบาๆ ประมาณ 5 -10 นาที ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง จนแน่ใจว่าเลือดหยุดไหลแล้ว ความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดไหล และบรรเทาความเจ็บปวดได้
2. ภายหลังจากนั้น 24 – 48 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยความร้อน เพื่อทำให้ก้อนเลือด
ใต้ผิวหนังสลายตัว

การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ - ตะคริวที่กล้ามเนื้อ

เกิดจากมีการหดเกร็งชั่วคราวของมัดกล้ามเนื้อทั้งหมด ขณะที่มีการ
หดตัวทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นมีลักษณะแข็งเป็นลูกและเจ็บปวดมาก อาการเกร็งของตะคริวกล้ามเนื้อ เกิดขึ้นนอกเหนืออำนาจจิตใจ และเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่นานก็หายไปเอง แต่อาจกลับเป็นซ้ำที่เดิมขึ้นมาอีกได้ ในบางครั้งกล้ามเนื้ออาจเป็นตะคริวพร้อม ๆ กันได้หลายมัด

หลักในการปฐมพยาบาลกล้ามเนื้อตะคริว คือ พยายามให้กล้ามเนื้อกลับไปอยู่ในท่าคลายตัว โดยผู้ที่ทำการปฐมพยาบาลต้องพยายามเหยียดกล้ามเนื้อ หรือคลายกล้ามเนื้อมัดนั้นช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง นุ่มนวล ไม่ทำอย่างกะทันหันและรุนแรง ไม่ใช้กำลังในเหยียดหรือคลายกล้ามเนื้อมากเกินควร หากมีการฝืนหรือต้านกำลังมากอาจทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นเกิดการบาดเจ็บมากขึ้นได้ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลมีดังนี้
1. หยุดพักการออกกำลังกายทันที ถ้ามีเครื่องพันธนาการ เช่น สนับเข่า หรือผ้ายืดรัดอยู่ให้ปลดออกทันที
2. ให้ผู้ป่วยนั่งเหยียดเท้าตึงตัวตั้งฉาก
3. ค่อย ๆ ดันปลายเท้าผู้ป่วยเข้าหาตัวผู้ป่วย กล้ามเนื้อน่องจะค่อย ๆ คลายตัวออกหรือยืดออก
4. ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน หรือถูนวดเบา ๆ ด้วยน้ำมันร้อน ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น




ารบาดเจ็บที่ข้อต่อและเอ็นยึดข้อต่อ

ข้อเท้าแพลง หมายถึง การที่เอ็นยึดข้อเท้าได้รับบาดเจ็บ การบาดเจ็บจะมีมากหรือน้อยย่อมแตกต่างกันไปสุดแท้แต่กรณี
ข้อเท้าแพลงชนิดเอ็นยึด ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือเจ็บเสียวข้อเท้าตรงบริเวณที่เอ็นยึด ความเจ็บจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าใช้นิ้วกดไปตรงบริเวณนั้น หรือทำให้มีการเคลื่อนไหวหรือบิดหมุนข้อเท้า นอกจากนี้ข้อเท้าจะบวม ซึ่งอาจบวมทันทีจากการที่หลอดเลือดบริเวณนั้นฉีกขาด ทำให้เลือดคั่ง อาการบวมมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออก แต่ถ้าไม่มีหลอดเลือดฉีกขาดอาการบวมจะไม่ปรากฏในระยะแรกแต่จะมาปรากฏในระยะหลัง คือ ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งเกิดจากการบวมตัวของเส้นเอ็นที่ยึดและอักเสบ เส้นเอ็นที่บวมตัวนี้ความเหนียวและความทนทานจะลดลง หากได้รับบาดเจ็บซ้ำจะทำให้ฉีกขาดออกจากกันได้ง่าย แต่ถ้าได้พักรักษาถูกต้องตามขั้นตอน ข้อเท้าแพลงชนิดเอ็นยึดก็จะหายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
การปฐมพยาบาล
เมื่อเอ็นยึดสิ่งที่ต้องทำทันทีและทำพร้อมกัน คือ การพักด้วยการยกข้อเท้าให้สูงไว้และประคบเย็นโดยทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ จะต้องจัดการให้ข้อเท้าข้างนั้นได้พักอยู่นิ่ง ๆ ไม่ควรเคลื่อนไหวข้อเท้าโดยไม่จำเป็น ยกข้อเท้าที่บาดเจ็บให้สูง ถ้านอนราบควรใช้หมอนหนุนเท้าข้างนั้นให้สูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งทุบละเอียด ประคบตรงบริเวณที่เจ็บหรือบวมวันละหลาย ๆ ครั้ง เสร็จแล้วพันข้อเท้าด้วยผ้ายืดหรือตรึงข้อเท้าด้วยพลาสเตอร์เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวข้อเท้า

การประคบเย็น สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บและระงับอาการบวม ได้ผลดีในระยะไม่เกิน 3 วันแรกที่ได้รับบาดเจ็บ ภายหลัง 3 วันอาการอาการบวมจะคงตัวหรือเริ่มลดลง ซึ่งการประคบเย็นจะหมดความจำเป็นให้ต่อด้วยการประคบร้อน

การประคบร้อน ด้วยการชโลมน้ำมันร้อน ทาด้วยบาล์มร้อน ตลอดจนการคลึง นวดเบา ๆ ตรงบริเวณที่บวมจะทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้อาการอักเสบและอาการบวมลดเร็วขึ้น ระยะนี้เริ่มเคลื่อนไหวข้อเท้าได้บ้างถ้าไม่เจ็บ แต่ยังไม่ควรให้ลงน้ำหนักที่ข้อเท้าอย่างเต็มที่ การยืนหรือเดินระยะทางสั้น ๆ ควรมีไม้เท้าช่วยค้ำยัน การรักษาโดยวิธีกายภาพบำบัดอย่างถูกต้องในช่วงระยะตั้งแต่วันที่ 3 จนถึงวันที่ 10 นี้ จะช่วยให้เอ็นที่ยึดคืนตัวสู่สภาพปกติ หรือเกือบปกติ และการเคลื่อนไหวข้อเท้าและการลงน้ำหนักข้อเท้าก็ทำได้เกือบปกติเช่นเดียวกัน แต่ในการเดินในระยะทางไกล ๆ ในช่วงแรกของการหายนี้ควรมีผ้ายืดพันหรือสวมสนับข้อเท้า เพื่อช่วยกระชับข้อเท้าขณะที่ขึ้นลงบันไดที่ลาดชัน หรือในการเดินลงน้ำหนักที่ข้อเท้าเป็นเวลานาน ๆ

ข้อเคลื่อน
ข้อเคลื่อน คือ ลักษณะที่ปลายหรือหัวกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นข้อต่อนั้นเคลื่อน หรือหลุดออกไปจากที่อยู่ตามปกติ อันเกิดจากถูกกระชาก ชน เหวี่ยง โดยจะมีอาการดังนี้
1. บวมและปวดมากบริเวณข้อนั้น
2. รูปร่างของข้อจะเปลี่ยนแปลงผิดไปจากเดิม เช่นบวมโต สั้น หรือยาวกว่าปกติ
3. อาจพบปลายกระดูกส่วนที่เคลื่อน หรือหลุดดันนูนขึ้น เห็นได้ชัด หรือจับคลำดูก็ทราบได้
4. ข้อจะติดขัดเคลื่อนไหวไม่ได้ เมื่อจับพลิกไปข้างหน้า ข้างหลัง หรือด้านข้างจะเจ็บปวดมากที่สุด
ารปฐมพยาบาล
1. อย่าพยายามดึงข้อให้เข้าที่ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงกระดูกหักได้
2. ถ้าปวดมากควรใช้น้ำแข็งประคบ
3. ให้ข้อนั้นอยู่นิ่ง ๆ ในท่าที่เป็นอยู่ อย่าเคลื่อนไหวใด ๆ
4. รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน การทิ้งผู้ป่วยไว้นาน ๆ จะทำให้ดึงเข้าที่ยาก

มารยาทที่ดีของผู้เล่น-ผู้ดูกีฬาวอลเลย์บอล

มารยาทที่ดีของผู้เล่นกีฬาวอลเลย์บอล
การเล่นกีฬาทุกชนิดมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิตให้เจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเล่นกีฬาจะช่วยให้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ลดความตึงเครียด เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ กีฬาวอลเลย์บอลก็มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เล่นจะพบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายได้ ก็ควรจะต้องมีมารยาทในการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลที่ดี ดังต่อไปนี้
1. แต่งกายให้เหมาะสม และใส่เครื่องแบบชุดกีฬาของทีมตนให้ถูกต้อง เมื่อเข้าร่วมการแข่งขัน
2. เล่นและปฏิบัติตนตามกติกาอย่างเคร่งครัด
3. เล่นอย่างมีมารยาทต่อผู้เล่นทุกคนและทุกฝ่าย
4. ให้เกียรติต่อผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม
5. ให้เกียรติต่อผู้ชมตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
6. ไม่แสดงกิริยาที่ไม่สุภาพ และพูดจาโต้เถียง ก้าวร้าวต่อผู้อื่น
7. ใจคอหนักแน่น อดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์เมื่อเกิดโทสะได้
8. ผู้เล่นต้องยอมรับ และเคารพคำตัดสินของผู้ตัดสิน
9. ผู้เล่นต้องเชื่อฟัง เคารพคำสั่งของหัวหน้าทีม และผู้ฝึกสอน
10. ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดเต็มความสามารถของตน
11. เมื่อชนะก็ไม่ควรดีใจจนเกินไป และไม่ทับถม เยาะเย้ยฝ่ายที่แพ้
12. เมื่อแพ้ก็ไม่เสียใจจนเกินไป ค้นหาจุดด้อยของตนเอง และปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น
13. รู้จักให้อภัย ไม่ติเตียนกล่าวโทษเพื่อนร่วมทีม และถึงแม้เพื่อนร่วมทีมจะทำผิดพลาดก็ไม่ควรแสดงอาการไม่พอใจ
14. ไม่สร้างความเดือดร้อน รำคาญใจให้กับผู้อื่น

มารยาทที่ดีของผู้ดูกีฬาวอลเลย์บอล

ผู้ดูกีฬาถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกีฬาทุกประเภท ผู้ดูกีฬาช่วยให้ผู้เล่นมีกำลังใจ ช่วยให้เกมกีฬาต่าง ๆ มีความสนุกสนานมากขึ้น และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาการกีฬาให้ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการไปเชียร์เพื่อให้กำลังใจทีมของตน หรือไปดูเพื่อความเพลิดเพลินของตนและหมู่คณะ ผู้ดูที่ดีก็ควรจะต้องปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนอกจากจะส่งผลเสียต่อตนเอง สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ดูกีฬาคนอื่น ยังทำให้เสียอรรถรสในการชมกีฬาของทั้งตนเองและผู้อื่นอีกด้วย โดยมารยาทที่ดีที่ผู้ดูกีฬาวอลเลย์บอลควรมี ได้แก่
1. นั่งชมกีฬาด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ยืนกีดขวาง หรือเกะกะผู้อื่น
2. ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น และไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนนักกีฬา ในเวลาที่นักกีฬาต้องการสมาธิ
3. เมื่อนักกีฬาและผู้ตัดสินลงสู่สนาม ผู้ดูควรปรบมือเพื่อเป็นการให้เกียรติ
4. หากผู้เล่นเล่นได้ดี ควรปรบมือเพื่อเป็นการชมเชย และให้กำลังใจ
5. แม้ทีมที่ชนะจะไม่ใช่ทีมของตนเอง ผู้ดูที่ดีควรปรบมือเพื่อแสดงความยินดี
6. ควรปรบมือให้นักกีฬาที่ยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสิน
7. ควรปรบมือให้กับผู้ตัดสินด้วย เมื่อผู้ตัดสินทำการตัดสินได้ถูกต้อง
8. ปรบมือให้ผู้เล่น เมื่อผู้เล่นได้รับการประกาศชื่อ หรือได้รับรางวัล
9. ไม่แสดงกิริยาโวยวาย พูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว
10. ไม่โยนหรือขว้างปาสิ่งของลงไปในสนามแข่ง ใส่ผู้เล่น รวมถึงผู้ตัดสินในสนาม
11. ไม่ทะเลาะวิวาทกับผู้เล่น หรือผู้ชมคนอื่น
12. ไม่ทำตนเป็นผู้ตัดสิน หรือแทรกแซงการตัดสิน รวมทั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่
13. หากไปเป็นหมู่คณะ ควรนั่งรวมกันในกลุ่มของตนเชียร์กีฬาด้วยถ้อยคำสุภาพ ไม่เชียร์ในสิ่งที่เป็นการเสียดสีในทางไม่ดีต่อทีมใดทีมหนึ่ง
14. ช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ กรณีเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่สงบเกิดขึ้น
15. ช่วยตักเตือน ห้ามปรามเมื่อหมู่คณะของตนเองกระทำผิด
16. แต่งกายอย่างเหมาะสม ถูกกาลเทศะ
17. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนและขณะดูกีฬา

ลักษณะของกีฬาวอลเลย์บอล

ลักษณะของกีฬาวอลเลย์บอล

วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่เล่นโดยผู้เล่นสองทีมบนสนามที่แบ่งแดนด้วยตาข่าย ทีมหนึ่ง ๆ จะมีผู้ลงเล่นฝ่ายละ 6 คน แบ่งเป็นผู้เล่นแถวหน้าและแถวหลัง แถวละ 3 คน
จุดมุ่งหมายการเล่นและการแข่งขัน คือ การส่งลูกข้ามตาข่ายให้ตกลงในแดนฝ่ายตรงข้ามและป้องกันไม่ให้ทีมตรงข้ามส่งลูกข้ามตาข่ายมาตกในพื้นที่ของตน
การเล่นเริ่มต้นเมื่อทำการเสิร์ฟลูกบอล โดยผู้เสิร์ฟส่งลูกมือเดียวให้ข้ามไปยังทีมตรงข้าม การเล่นจะดำเนินไปจนกว่าลูกบอลจะตกลงพื้น ฝ่ายเสิร์ฟจะเป็นฝ่ายรุก อีกฝ่ายเป็นฝ่ายรับ แต่ละทีมจะถูกลูกบอลได้ 3 ครั้งในการส่งลูกบอลกลับไปยังอีกฝ่าย ยกเว้นการถูกลูกบอลในการสกัดกั้น
การสกัดกั้น คือ การป้องกันไม่ให้ลูกบอลตกในแดนของตน เป็นการเล่นของผู้ที่อยู่ชิดใกล้ตาข่าย สกัดกั้นคราวละ 1-3 คนเท่านั้น
การชนะในแต่ละเซต (Winner Of A Set) คือ ทีมที่ทำคะแนนได้ 25 คะแนนก่อน และมีคะแนนนำฝ่ายตรงข้ามอย่างน้อย 2 คะแนน ในกรณีที่คะแนนเท่ากัน (24-24) ผู้ชนะเซตนั้นต้องมีคะแนนมากกว่า 2 คะแนน เช่น 26-24 หรือ 27-25 เป็นต้น
การชนะในการแข่งขัน (Winner Of A Match) ทีมที่ชนะได้ 3 เซตก่อน ในกรณีที่ชนะเสมอกัน 2 ต่อ 2 เซต ให้ถือเอาเซตที่ 5 เป็นเซตตัดสิน โดยเล่นถึงคะแนนที่ 15 คะแนน และมีคะแนนนำฝ่ายตรงข้ามอย่างน้อย 2 คะแนน

หลักการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลด้วยความปลอดภัย
การเล่นกีฬาทุกประเภทย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ส่วนจะเกิดการพัฒนาหรือผู้เล่นจะได้รับประโยชน์มากหรือน้อยนั้นอยู่กับเกมกีฬา วิธีการเล่น ระยะเวลาของการเล่นกีฬา และปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ การเล่นกีฬาที่ขาดความพอดี ไม่เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย สุขภาพอนามัย หรือกาลเทศะ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การเล่นกีฬาจึงควรพิจารณาเกี่ยวกับความปลอดภัยในหลาย ๆ ด้าน สำหรับการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลให้ปลอดภัย ผู้เล่นควรปฏิบัติดังนี้
1. ก่อนเล่นกีฬา ต้องอบอุ่นร่างกายเสียก่อน โดยเฉพาะข้อมือ ข้อเท้า เข่า ฯลฯ
2. ต้องแต่งกายชุดเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับกีฬาวอลเลย์บอล
3. ต้องตรวจสอบอุปกรณ์และสนามให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย มั่งคงแข็งแรงพร้อมที่จะฝึกได้
4. ต้องเล่นด้วยความระมัดระวัง ตามหลักการและวิธีการของการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล
5. ไม่กลั่นแกล้งกันในขณะฝึกซ้อม
6. ไม่หักโหมฝึกซ้อม หรือเล่นวอลเลย์บอลจนเกินกำลังความสามารถและสภาพร่างกายของผู้เล่นเอง
7. ควรจะฝึกจากท่าที่ง่ายไปหาท่าที่ยากขึ้นและฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป
8. ไม่ควรฝึกซ้อมในสนามกลางแจ้งในขณะที่ฝนตก ฟ้าร้อง หรือแดดร้อนจัด
9. ไม่ควรฝึกซ้อมในสถานที่ ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
10. ไม่ควรฝึกซ้อม หรือเล่นวอลเลย์บอลหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ

ประโยชน์และคุณค่าของการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล

การออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬาทุกชนิดย่อมจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อผู้เล่น การเล่นกีฬาวอลเลย์บอลก็เช่นเดียวกัน มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อผู้เล่นได้เป็นอย่างดีถึง 3 ทางใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ประโยชน์และคุณค่าทางร่างกาย
- ได้ออกกำลังกายอย่างมีระบบ มีกฎเกณฑ์ และกติกา
- เป็นการเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโต เสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายทำให้ระบบร่างกายทำงานเป็นปกติดี
- ฝึกให้ร่างกายมีความคล่องแคล่วว่องไว
- เสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ชีวิตของตัวผู้เล่นเอง
2. ประโยชน์และคุณค่าทางจิตใจ
- ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ลดความเครียด
- เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
- ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้เล่น
- ฝึกให้มีระเบียบ มีวินัย มีเหตุมีผล รู้จักการเป็นผู้นำผู้ตาม และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน
- ฝึกจิตใจให้มีสมาธิ สร้างความมั่นคง เข้มแข็งทางจิตใจ ฝึกให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักการแพ้ การชนะ และการอภัย
-วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่มีกฎกติกา ผู้เล่นต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกาการเล่น ดังนั้นการเล่นวอลเลย์บอล ย่อมช่วยสอนให้ผู้เล่นรู้จักความยุติธรรม มีความอดทนอดกลั้น รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น
-วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีมจึงช่วยให้เกิดความรักใคร่ สามัคคีในหมู่คณะ
3. ประโยชน์และคุณค่าทางสังคม
- ทำให้ผู้เล่นมีเพื่อน หรือรู้จักคนอื่น ๆ มากขึ้น
- เมื่อเกิดความสามัคคีในหมู่คณะ ย่อมจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมด้วย
- เมื่อมีการแข่งขันกีฬาเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดการสร้างงานและการกระจายรายได้ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งผู้เล่น และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับประโยชน์จากกีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองและส่งผลถึงประเทศชาติต่อไป
- เมื่อมีการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติย่อมเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจังหวัด จนถึงระหว่างประเทศ
- ผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จย่อมนำชื่อเสียงมาสู่ตนเอง หรือต่อประเทศชาติได้
การดูแลรักษาอุปกรณ์กีฬาวอลเลย์บอล
นักเรียนรวมถึงนักกีฬาวอลเลย์บอลจำเป็นต้องทำความรู้จักอุปกรณ์กีฬาของตนเอง ต้องรู้จักการเก็บ การบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์นั้น ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยาวนาน และคุ้มค่า
อุปกรณ์วอลเลย์บอลแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ อุปกรณ์ที่ใช้กันเป็นส่วนรวม และอุปกรณ์ส่วนตัว ส่วนวิธีการดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์วอลเลย์บอลอย่างถูกวิธีมีดังต่อไปนี้
1. อุปกรณ์ส่วนรวม ได้แก่ สนามวอลเลย์บอล ตาข่าย เสาตาข่าย ลูกบอล อุปกรณ์เหล่านี้ควรจัดเวร หรือจัดให้มีผู้ดูแลรับผิดชอบโดยเฉพาะ
1.1 หากสนามชำรุด(Volleyball court) มีข้อบกพร่องต้องแจ้งให้ผู้รับผิดชอบรีบ ปรับปรุงแก้ไข
1.2 ตาข่าย ( Net ) เมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย อย่าปล่อยให้ตากแดด ตากฝนเป็นเวลานาน หากเปียกน้ำต้องตากให้แห้งก่อนเก็บหลังจากการเล่นจะต้องผ่อนตาข่ายที่ตึงให้หย่อนลง
1.3 เสาตาข่าย หากเป็นแบบถอดได้ต้องถอดเก็บเป็นที่เป็นทาง สะดวกต่อการประกอบใช้งานต่อไปลูกวอลเลย์บอล เก็บลูกวอลเลย์บอลไว้ในที่เก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย หากเปียกน้ำต้องเช็ดให้แห้งก่อนเก็บ
ไม่ปล่อยให้ลูกวอลเลย์บอลตากแดดเป็นเวลานาน หากลูกวอลเลย์บอลสกปรกมาก ให้ทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆรีบเช็ดให้แห้ง แล้วนำไปเก็บในที่ให้เรียบร้อย
1.4 สมุดบันทึกการแข่งขัน แฟ้มงานต่าง ๆ หนังสือการกีฬา หนังสือกติกา และเอกสารต่าง ๆ ควรเก็บในที่เก็บให้เป็นระเบียบ ง่ายต่อการค้นหาและนำไปใช้
1.5 หมั่นเช็ด กวาด ถูพื้นสนาม สิ่งกีดขวางในสนาม เช่น ขยะ เศษไม้ เศษหิน ฯลฯ ต้องเก็บกวาดให้สะอาด เรียบร้อยอยู่เสมอ โดยเฉพาะระหว่างการใช้งาน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
โดยอุปกรณ์ทุกชนิด ควรมีชั้นหรือตู้เก็บอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะ และควรเก็บแยกประเภทให้เรียบร้อยเพื่อสะดวกในการนำมาใช้
2. อุปกรณ์ส่วนตัว ได้แก่ เครื่องแบบ เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า
2.1 เครื่องแบบ เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ต้องซักให้สะอาด อยู่ในสภาพที่ใช้ได้เสมอ
2.2 เก็บให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย หาง่าย หยิบใช้ได้สะดวก
2.3 เก็บอุปกรณ์ไว้ในสถานที่ปลอดภัย2.4 การเลือกซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ควรซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอล 2

การพัฒนาและการแข่งขันระหว่างประเทศ


หน่วยงานสำคัญที่เป็นสื่อทำให้กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศ คือ สมาคม YMCA และกองทัพสหรัฐฯ เมื่อทหารอเมริกันได้เข้าไปทำกิจกรรมทางทหารที่ประเทศใด ทหารก็ได้นำกีฬาเข้าไปเล่นเพื่อออกกำลังกาย และเป็นการจูงใจให้ประชาชนของแต่ละประเทศสนใจ
การแข่งขันวอลเลย์บอลในระยะแรกที่นายมอร์แกนสาธิตให้ที่ประชุมได้ชมนั้น แข่งขันในระบบ 10 คน คือ ข้างละ5 คน ต่อมามีการแข่งขันระบบ 18 คนบ้าง 16 คนบ้าง โดยแบ่งข้างละเท่าๆกัน
ค.ศ.1896 ซึ่งเป็นปีที่นานาชาติได้จัดให้มีการแข่งกีฬาโอลิมปิคสากลครั้งแรกของโลกสมัยใหม่ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีก ที่ประชุมผู้นำทางการกีฬาของสหรัฐฯ ก็ได้อนุมัติให้เกมวอลเลย์บอลเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่ต้องส่งเสริมและพัฒนา
ต่อมาในปี ค.ศ.1900 ขณะที่มีการแข่งขันโอลิมปิคสากลครั้งที่สอง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สมาคม YMCA ได้ร่างกติกาวอลเลย์บอลขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แล้วได้มีการนำกีฬาวอลเลย์บอลไปสาธิตให้คณะกรรมการโอลิมปิคดู และในปีนี้ได้มีการเผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลไปสู่ประเทศแคนาดา และประเทศอินเดียอีกด้วย จากนั้นได้มีการเผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลต่อไปยังประเทศต่าง ๆ มากมายดังนี้
ค.ศ. 1905 กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยัง ประเทศคิวบา (Cuba)
ค.ศ. 1909 กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยัง ประเทศเปอร์โตริโก(Puerto Rico)
ค.ศ. 1910 กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยัง ประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines)
ค.ศ. 1912 กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยัง ประเทศอุรุกวัย (Uruguay)


ค.ศ. 1913 กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยัง ประเทศจีน และนายเอลวูด เอส บราวน์ (Elwood S. Brown) ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล ในการแข่งขันกีฬา “ ตะวันออกไกลเกมส์ ” (Far Eastern Games)
ค.ศ. 1916 สมาคม YMCA และสมาคมส่งเสริมกีฬาของสหรัฐฯ (The Nation Collegiate Athletic Association, NCAA.) ได้ร่วมกันปรับปรุงกติกาวอลเลย์บอลขึ้นใหม่
ค.ศ. 1917 กีฬาวอลเลย์บอลได้เผยแพร่ไปยัง ประเทศญี่ปุ่น(Japan) และบราซิล(Brasil)
ค.ศ. 1922 จัดแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลแห่งชาติของสหรัฐ ฯ ที่เมืองพิตสเบิร์ก(Pittsburgh) รัฐเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania)
ค.ศ. 1924 ญี่ปุ่นได้พัฒนาการเล่นแบบ 12 คน คือ ข้างละ 6 คน
ค.ศ.1928 ดร.จอร์ช เจ ฟิชเชอร์ (Dr.George J. Fisher) เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหวให้สหรัฐฯได้จัดชิงแชมป์วอลเลย์บอล (Open Championship) ขึ้นเป็นครั้งแรกและปีเดียวกันนี้ได้มีการจัดตั้งสมาคมวอลเลย์บอลแห่งสหรัฐฯขึ้น (The United State Volleyball Association, USVBA) ส่งผลให้ ดร.จอร์ช เจ ฟิชเชอร์ (Dr.George J. Fisher) ได้เป็นนายกสมาคมคนแรกและถือว่าเป็น “ บิดาวอลเลย์บอลสากล ”
ค.ศ.1936 ขณะที่กำลังมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 11 ก็ได้มีการเคลื่อนไหวประชุมจัดตั้ง “ สมาคมวอลเลย์บอลนานาชาติ ” ขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
ค.ศ.1947 มีการจัดตั้งสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (International Volleyball Federation, IVBF )ขึ้น โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันสัญลักษณ์ของสำนักงานนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองโลซาน (Lausanne) สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ประเทศสวิทเซอร์แลนด์ (Switzerland) และเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น Federation Of International Volleyball หรือ FIVB
ค.ศ.1949 จัดชิงแชมป์โลก วอลเลย์บอลประเภทชายครั้งแรก ที่กรุงปราก (Praque) ประเทศเชคโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia)


ค.ศ.1952 สมาคมวอลเลย์บอลสหรัฐฯ ประชุมปรับปรุงกติกาวอลเลย์บอลและได้มีมติให้ใช้ชื่อกีฬา Volley Ball เป็นคำติดกัน “Volleyball” และมีการจัดแข่งชิงแชมป์โลกวอลเลย์บอลหญิงครั้งแรกที่กรุงมอสโค(Moscow)


ค.ศ.1954 ในขณะที่มีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชีย (Federation Of Asia Volleyball) ขึ้นที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ค.ศ.1955 กีฬาวอลเลย์บอลได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันเป็นครั้งแรก ในกีฬาเอเชียนเกมส์ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น



กีฬาวอลเลย์บอลในประเทศไทย



กีฬาวอลเลย์บอลได้แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด นอกจากคำบอกเล่าและสันนิษฐานว่าได้เข้ามาก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย โดยมีการเล่นวอลเลย์บอลในหมู่ชาวต่างประเทศในไทย เช่น เจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ พ่อค้าชาวจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และอื่นๆ
พ.ศ.2477 กรมพลศึกษาได้จัดพิมพ์กติกาวอลเลย์บอลสากลขึ้นเป็นครั้งแรก จากการแปลของอาจารย์นพคุณ พงษ์สุวรรณ และในปีเดียวกันนี้ กรมพลศึกษาได้จัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลขึ้นเป็นครั้งแรก
1 พ.ย. 2500 ประเทศไทยได้จัดตั้งสมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น (Amature Volleyball Association Of Thailand) โดยการนำของพลโทสุรจิตร จารุเศรณี นายกอง วิสุทธารมย์ นายเสรี ไตรรัตน์ นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ นายแมน พลพยุหคีรี นายนิคม พลสุวรรณ และนายเฉลิม บุณยะสุนทร ซึ่งพลโทสุรจิตร จารุเศรณีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกสมาคมเป็นคนแรก
จุดประสงค์ของการตั้งสมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ที่สำคัญคือ
1. เพื่อส่งเสริมการกีฬาวอลเลย์บอลในประเทศไทย
2. เพื่อจัดแข่งขันวอลเลย์บอลในประเทศไทย
3. เพื่อจัดแข่งขันวอลเลย์บอลระหว่างประเทศในประเทศไทย
4. เพื่อเข้าร่วมแข่งขันวอลเลย์บอลในต่างประเทศ
5. เพื่อจัดหาทุนส่งเสริมกีฬาวอลเลย์บอลของไทย
6. จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
เมื่อประเทศไทยมีสมาคมวอลเลย์บอล ทำให้กีฬาวอลเลย์บอลได้เป็นที่สนใจ และแพร่หลายสู่วงการต่าง ๆ มากขึ้น เช่นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวอลเลย์บอล

ประวัติความเป็นมาของกีฬาวอลเลย์บอล


กีฬาวอลเลย์บอล ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่
สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1985 (พ.ศ.2438)
โดยการคิดและการริเริ่มของนายวิลเลี่ยม จี. มอร์แกน ( William G. Morgan) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพลศึกษาของสมาคม
วาย เอ็ม ซี เอ (YMCA) หรือ สมาคมเยาวชนชายชาวคริสต์(Young Men’s Christian Association) แห่งเมืองฮอลโยค
มลรัฐแมสซาชูเซตส์(Massachusette) สหรัฐอเมริกา
ในช่วงฤดูหนาวของสหรัฐฯ อากาศจะหนาวจัด บางแห่งหิมะปกคลุมไร่ นา ท้องทุ่ง แม้แต่สนามหญ้า เป็นการยากที่จะเล่นกีฬากลางแจ้ง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นายมอร์แกนคิดค้นกีฬาที่จะเล่นได้ทั้งในร่มและกลางแจ้งขึ้น
อนึ่งเขาปรารถนาที่จะเห็นกีฬาที่เล่นได้ง่ายและสะดวกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ขณะนั้นได้มีการเล่นกีฬาบาสเกตบอลกันก่อนแล้ว เป็นกีฬาที่เล่นได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง แต่ห่วงประตูของกีฬาบาสเกตบอลจะอยู่สูงเกินกว่าที่เด็ก ๆ จะเล่นกันได้ นายมอร์แกนจึงมีความคิดนำกติกาและวิธีการเล่นของกีฬาแฮนด์บอล (Handball) กีฬาเทนนิส(Tennis) และกีฬาบาสเกตบอล (Basketball) มาผสมผสานเล่นเป็นเกมกีฬาชนิดใหม่ขึ้น
โดยเขาได้นำตาข่ายกีฬาเทนนิสมาขึงแบ่งเขตแดนผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ใช้ยางในลูกบาสเกตบอลมาเป็นอุปกรณ์การเล่น ให้คนเล่นแบ่งเป็นข้างละทีม ส่งลูกข้ามตาข่าย โดยการโยนตบ หรือตีและเหวี่ยงให้ตกในแดนฝ่ายตรงข้าม และป้องกันมิให้ลูกบอลตกลงพื้นในแดนของตน การเล่นลูกบอลจะเล่นได้เฉพาะมือหรือแขน ไม่ใช้ศีรษะโหม่งหรือใช้เท้าเตะ เช่นการเล่นฟุตบอล ไม่เลี้ยงลูก เช่น การเล่นบาสเกตบอลและไม่ต้องใช้ไม้ตีเช่นการเล่นกีฬาเทนนิสหรือเบสบอล แต่เนื่องจากยางในของลูกบอสเกตบอลหนักและใหญ่เกินไปทำให้ผู้เล่นเจ็บมือได้ง่าย นายมอร์แกนจึงได้ให้บริษัทเอ.จี สปอลดิง แอนด์ บราเดอร์ จำกัด ผลิตลูกวอลเลย์บอล โดยเฉพาะให้ใหม่ มีหนังหุ้ม ขนาดเส้นรอบวง 25 – 27 นิ้ว น้ำหนักเพียง 9 -12 ออนซ์

ปรากฏว่าเกมการเล่นชนิดใหม่ของนายมอร์แกนเป็นที่ยอมรับของผู้เล่นเป็นอย่างดี
ผู้เล่นจึงเรียกชื่อกีฬาชนิดนี้ว่า “ Morgan’s New Game ” ( เกมใหม่ของนายมอร์แกน )
แต่ตัวนายมอร์แกนเองไม่ค่อยชอบชื่อนี้นัก
จึงตั้งชื่อว่า Mintonette (มินโตเนท) ซึ่งแผลงมาจากประโยคที่ว่า “ A minute to net ” (หมายถึง หนึ่งนาทีถึงตาข่าย) ตามลักษณะของการตีลูกบอลที่ใช้เวลาเพียงระยะสั้น คือหนึ่งนาทีก็ถึงตาข่าย ต่อมาสมาคม YMCA แห่งสหรัฐฯ ได้จัดให้มีการประชุมผู้นำทางการกีฬาแห่งชาติขึ้นที่วิทยาลัยสปริงฟิลด์ (Springfield College) ในปีค.ศ.1896 ที่ประชุมได้ให้นายมอร์แกนนำกีฬามินโตเนทของเขา
ไปสาธิตการเล่นให้ดูที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้การสนับสนุน และพัฒนากีฬาชนิดนี้ต่อไปแต่ศาสตราจารย์ Dr.Alfred T. Halstead (ดร. อัสเฟรด ที. แฮลสตีด) ได้เสนอแนะให้เปลี่ยนชื่อใหม่จาก Mintonette เป็น “Volley ball” ตามลักษณะของการตีลูกบอล ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกง่ายและตรงประเด็นดี จากนั้นกีฬาวอลเลย์บอลก็เป็นที่นิยมเล่นอย่างแพร่หลายในหมู่เยาวชนของสมาคม YMCA และแพร่หลายเข้าไปสู่โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันต่าง ๆ สมาคม สโมสรต่าง ๆรวมทั้งหน่วยทหารทั่วไปของสหรัฐ กีฬาวอลเลย์บอลเล่นได้ง่ายและสะดวกทั้งหญิงและชายเล่นได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ฝึกเล่นได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ขวบ ไปถึงผู้สูงอายุ 60 ปี กีฬาวอลเลย์บอลได้รับการพัฒนาทั้งวิธีการเล่นและกติกาจนกลายเป็นกีฬาสากลอีกชนิดหนึ่ง